เล็บ เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่ ป้องกันอันตราย รับความรู้สึก ใช้สำหรับการหยิบจับของเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยในการเคลื่อนไหวของนิ้วเท้าได้ดียิ่งขึ้นและเป็นแหล่งบ่งบอกถึงความเจ็บปวดของโรคบางชนิด ไปจนถึงสุขภาพของผู้ที่เป็นเจ้าของเล็บได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเวลาที่เราเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกายก็สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบนเล็บได้เช่นกัน เช่น เล็บเปราะ ฉีก หักง่าย โคนเล็บเปลี่ยนสี สงสัยใช่ไหมว่าสัญญาณเตือนเหล่านี้บ่งบอกอะไร และความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจ พร้อมเผย 7 เคล็ดลับบำรุงเล็บ ให้แข็งแรงอยู่เสมอ และเข้าใจพฤติกรรมที่มีส่วนให้เล็บเปราะหักง่าย
7 เคล็ดลับบำรุงเล็บให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเล็บสวยสุขภาพดี
อยากให้เล็บดูสวยใสสุขภาพดีลอง 7 เคล็ดลับบำรุงเล็บ ให้แข็งแรงอยู่เสมอ เริ่มต้นตั้งแต่นวดกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด, ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บเป็นประจำ, เลือกใช้ครีมบำรุงจมูกเล็บ, ใช้ยาทาเล็บที่ปราศจากสารเคมีอันตราย, หมั่นทำสปาเล็บ, หมั่นเติมสารอาหารบำรุงเล็บ ไปจนถึงปรับพฤติกรรม แต่จะทำยังไงไปดู
1. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดด้วยการนวด
คุณปรัชญมน บุรณศิริ กูรูด้านการดูแลมือและเล็บชื่อดัง ได้เปิดเผยข้อมูลว่า การนวดกดจุดมือช่วยให้เล็บและผิวดูสุขภาพดี ไม่แห้งกร้าน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ครีมบำรุงสามารถซึมเข้าผิวได้ดียิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนในการนวดกดจุดบริเวณมือ ดังนี้
- นวดหลังมือเบา ๆ โดยเริ่มจากโคนนิ้วโป้งลงมายังข้อมือ
- นวดและบีบปลายนิ้วโดยทำการนวดเบา ๆ จากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว ทีละนิ้ว
- กดเบา ๆ บริเวณข้อนิ้ว
- บีบบริเวณปลายนิ้วเบา ๆ จนครบทุกนิ้ว
- นวดฝ่ามือ โดยไล่จากโคนนิ้วแต่ละนิ้วลงมายังฝ่ามือ
- หมุนนิ้วตามเข็มนาฬิกา นิ้วละ 3 รอบ
- นวดแบบเดียวกันที่มืออีกข้าง
2. ครีมบำรุง
เลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น
- เคราติน
- อะโวคาโดออยล์
- น้ำมันจากสาหร่ายทะเล
- อัลมอนด์ออยล์
- อาร์แกนออยล์
3. หมั่นใช้ครีมบำรุงจมูกเล็บ
โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและให้เล็บกลับมาแลดูสวยสุขภาพดี ส่วนครีมบำรุงจมูกเล็บที่ควรเลือกเน้นครีมที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว
4. ใช้ยาทาเล็บที่ไม่มีสารอันตราย
โดยมองหายาทาเล็บที่มีหรือวิตามินช่วยบำรุงเล็บให้แข็งแรงสุขภาพดี และหลีกเลี่ยงยาทาเล็บที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนี้
- Dibutyl Phthalate (ไดบิวทิลทาเลต) ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาทาเล็บเพื่อเพิ่มความคงทน แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นสารอันตรายหากสูดดมมากเกินไป
- Formaldehyde (ฟอร์มาลดิไฮด์) สารกันเสียเพิ่มความคงทนและช่วยให้น้ำยาทาเล็บยึดเกาะกับเล็บได้ดี หากมีการสัมผัสเป็นประจำอาจก่อให้เกิดผื่นคันอักเสบหรือผิวไหม้ได้
- Toluene (โทลูอีน) มีคุณสมบัติช่วยให้น้ำยาทาเล็บมีเนื้อสัมผัสเรียบเนียน แต่หากสูดดมเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท
5. ทำสปาเล็บบ่อย ๆ
อาจเลือกเดินทางไปร้านทำเล็บหรือสปาเล็บที่น่าเชื่อถือและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือเลือกทำสปาเล็บเองที่บ้านด้วยตัวเองตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- ล้างสีเล็บ โดยใช้สำลีชุบน้ำยาล้างเล็บ จากนั้นวางบนเล็บประมาณ 10 – 15 วินาที เมื่อครบเวลาให้ใช้สำลีลูบออกอย่างเบามือ จนกว่าสีเล็บจะหลุด
- ตัดเล็บ
- หากตะไบเล็บไม่ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เคล็ดลับ คือ ต้องตะไบไปทางเดียวกัน
- เล็มหนังกำพร้า โดยเฉพาะบริเวณที่พบว่ามีหนังกำพร้าส่วนเกินเยอะ เพื่อป้องกันการฉีกขาดในอนาคต
- แช่ด้วยนมอุ่น อัตราส่วนน้ำอุ่นกับนม คือ 2 : 1 โดยแช่ไว้ประมาณ 10 นาที
- สครับมือ อาจเลือกใช้สครับน้ำตาลหรือสครับกาแฟหรืออื่น ๆ ได้ตามความต้องการ โดยถูมือทั้งสองข้างไปมาช้า ๆ และทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- เพิ่มความชุ่มชื้นด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์
หากต้องการทาสีเล็บใหม่ควรปฏิบัติตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- ทา base coat ก่อนเสมอ
- ทาสีเล็บ เริ่มทาจากปลายขอบ ก่อนทาบริเวณกลางเล็บ
- ควรใช้ top coat หรือน้ำยาเคลือบเล็บ พร้อมกับบำรุงด้วยออยล์
6. กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน
นอกเหนือจากการบำรุงเล็บจากภายนอกแล้วการเริ่มต้นจากภายในก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการกินอาหารเสริมเติมสารอาหารเพิ่มความแข็งแรงของเล็บและลดปัญหาเล็บเปราะหักง่าย ได้แก่ สังกะสี ไบโอติน วิตามินบี 3 วิตามินบี 12
7. เปลี่ยนพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมใดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเล็บฉีกขาดและเปราะง่าย เช่น แงะ แกะ หรือกัดเล็บ
- หลีกเลี่ยงการล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเล็บเป็นเชื้อรา จากการสูญเสียสารบำรุงตามธรรมชาติ
เล็บเปราะฉีกหักง่าย เกิดจากอะไร
สาเหตุหลักที่ทำให้เล็บเปราะฉีกหักง่าย คือ ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารประเภทวิตามินและโปรตีน หรือเล็บบ่งบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ที่ประสบปัญหานี้ต้องกินอะไรให้เล็บแข็งแรง หลัก ๆ ประกอบด้วยวิตามินและสารอาหาร ดังนี้
1. เสริมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ
- ธาตุเหล็ก ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน 15 มิลลิกรัม
- วิตามินซี ปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน 1,000 – 2,000 มิลลิกรัม
- วิตามินดี ขึ้นอยู่กับอายุและผู้มีความเสี่ยง
- อายุน้อยกว่า 1 ปี 10 ไมโครกรัม
- 1 – 70 ปี 15 ไมโครกรัม
- 70 ปีขึ้นไป 20 ไมโครกรัม
- สตรีที่วางแผนตั้งครรภ์ 10 ไมโครกรัม
- สตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง 50 – 100 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 7 600 – 2,400 ไมโครกรัม
2. เสริมโปรตีนให้เพียงพอ
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ไม่ได้ออกกำลังกาย ควรได้รับโปรตีนวันละ 0.8 – 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ออกกำลังกาย ควรได้รับโปรตีนวันละ 2 – 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
สาเหตุ เล็บเปราะหักง่าย
นอกเหนือจากการขาดสารอาหารก่อนหาวิธีบํารุงเล็บ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเล็บเปราะหักง่ายที่ต้องรู้ ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ, ขาดความชุ่มชื้น, ทาเล็บบ่อยเกินไป และได้รับน้ำมากเกินไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ร่างกายขาดน้ำ หากร่างกายขาดน้ำจะส่งผลให้เล็บไม่แข็งแรงและเปราะบาง
- ความชุ่มชื้นในเล็บลดลง ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น ทาออยล์หรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์
- ทาเล็บบ่อยเกินไป หากเลี่ยงไม่ได้ควรเลือกยาทาเล็บที่เป็นมิตรต่อเล็บแทน อย่างพวกยาทาเล็บออร์แกนิกหรือไร้สารเคมี
- สัมผัสน้ำมากเกินไป เช่น ซักผ้า ล้างจาน ถูบ้าน ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำ และจำเป็นต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เล็บอ่อนแอและฉีกหักง่ายทั้งสิ้น
พฤติกรรมที่มีส่วนให้เล็บเปราะหักง่าย
หากคิดว่าปัญหาเล็บเปราะหักง่ายที่กล่าวไปข้างต้นยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ การทำความเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ก่อน เพื่อปรับพฤติกรรม ก่อนมองหาวิตามินหรืออาหารเสริมมาทานเสริมช่วยให้เล็บแข็งแรง ซึ่งพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อเล็บ เช่น
- การกัดเล็บ หลายครั้งเรื่องการเข้าสู่สภาวะเครียด ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อปฏิกิริยาดังกล่าวด้วยการพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น กัดเล็บ โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อความแข็งแรงของเล็บ เช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื้อข้างเล็บเปื่อยยุ่ย จนกลายเป็นปัญหาตามมา
- ตะไบเล็บผิดวิธี เช่น ตะไบเล็บไปคนละทาง หรือตะไบแรงเกินไป อาจส่งผลให้เล็บฉีกขาดหรือมีโอกาสฉีกขาดง่ายขึ้น
- เล็มจมูกเล็บ จมูกเล็บถือเป็นส่วนที่มีความบอบบางที่สุด หากได้รับบาดเจ็บหรือมีปัจจัยกระตุ้นเพิ่มความอ่อนแอ อาจเสี่ยงทำให้จมูกเล็บลอก มีเลือดออก ไปจนถึงเล็บเปราะ ดังนั้น จึงไม่ควรเล็มไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ก็ตาม
เคล็ดลับการบำรุงเล็บที่ดีไม่มีอะไรดีไปกว่าการดูแลทั้งภายในและภายนอก เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกครีมบำรุง การไม่ทาสีเล็บบ่อยเกินไป การปรับพฤติกรรม ไปจนถึงกินอาหารเสริมเพิ่มความแข็งแรงให้แก่เล็บ เช่น ไบโอติน ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินดี ซึ่งไม่สามารถเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ดังนั้น ใครที่พบว่าตนเองกำลังมีปัญหาก็อย่าลืมใส่ใจครบทั้งสองด้าน
อ้างอิง
- การดูแลเล็บ. https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/204_49_1.pdf